ทำความเข้าใจขอบข่ายในเรื่องงานทาง LANDSCAPE..
งาน LANDSCAPE เป็นงานที่ผนวกเอา ศิลป และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับงานทางสถาปัตยกรรม ซึ่งภูมิสถาปนิก และสถาปนิก ต่างก็ใช้หลักการออกแบบโดยใช้องค์ประกอบทางศิลป (DESIGN ELEMENTS) เหมือนกันก็คือ FORM, COLOR. TEXTURE, CONTRAST, HARMONY ฯลฯ แต่มีองค์ประกอบปัจจัยที่เพิ่มขึ้นทางภูมิทัศน์ (LANDSCAPE FACTORS) ซึ่งได้แก่ สภาพแวดล้อม, ดิน, น้ำ, ภูมิอากาศ, อาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ จะเป็นตัวกำหนด ลักษณะการออกแบบเพื่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากความงาม โดยภูมิสถาปนิก และ สถาปนิก มีหน้าที่คล้ายกันตรงที่เป็นแกนกลางผู้ประสานงานในการออกแบบทางกายภาพ (PHYSICAL DESIGN) ร่วมกับวิศวกรในสาขาต่าง ๆ เพื่อให้เกิดระบบที่ดี และสุนทรียภาพของงานอาคาร (BUILDING SYSTEM) ซึ่งความแตกต่างกันที่เห็นได้ชัดได้เเก่ ในงานของทางวิศวกรรมและ สถาปัตยกรรมของงานอาคาร นั้นจะวิ่งขึ้นในทางสูงหรือแนวดิ่ง แต่ระบบต่าง ๆ ในผังบริเวณ (SITE SYSTEM) ของงาน LANDSCAPE มักจะวิ่งไปในแนวราบ ซึ่งกล่าวได้ว่า งานออกแบบทาง LANDSCAPE คือ งานที่ออกแบบที่เกี่ยวกับพื้นดินและการใช้พื้นดิน ในทุกๆ สิ่งที่จะสร้างให้เกิดมุมมองสิ่งแวดล้อมที่ดีภายนอกอาคาร
ซึ่งงานหลักจริง ๆ ได้แก่ การจัดการออกแบบและวางแผนเกี่ยวกับงานดินโดยรอบอาคาร หรือกลุ่มอาคาร (LAND & MANIPULATION) หรือในขอบเขตระดับผังที่ใหญ่ขึ้น ( LANDSCAPE PLANNING) เช่นการวางแผนเกี่ยกับที่ดิน (LAND PLANNING) โดยพิจารณาความเหมาะสมของที่ดินต่อการพัฒนาในแง่ต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และในขณะเดียวกันก็จะให้ข้อเสนอแนะถึงความเหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ของในแต่ละพื้นที่ หรือชี้ให้เห็นปัญหาผลกระทบที่จะเกิดกับการจัดการ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตและแนวทางแก้ไขต่อไป โดยจะใช้หลักการและเหตุผลทางวิชาการจากการทำการศึกษา วิเคราะห์พื้นที่ ( SITE ANALYSIS) ซึ่งวิธีการและรายละเอียดจะขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละพื้นที่ที่ไม่เหมือนกัน เเละจะกล่าวถึงวิธีการและรายละเอียดนี้ในขั้นต่อไป
......เเละสำหรับงานในระดับที่ใหญ่ขึ้น(LANDSCAPE PLANNING) ก็จะเป็นการวิเคราะห์ในการจัดวางแผนการใช้ที่ดินระดับภาค ( REGIONAL PLAN) เป็นผังการใช้ที่ดินขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถนำเสนอชี้แนะ การวางองค์ประกอบต่าง ๆ ของการใช้ที่ดินลงไป ซึ่งควรจะต้องมีนักวิชาการด้านอื่น ๆ เช่นผู้ที่มีความรู้ ทางวิศวกรรม, นักผังเมือง, นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ร่วมพิจารณาในเหตุผลด้านอื่น ๆที่เกี่ยวข้องนี้ด้วย ซึ่งผลจากการวิเคราะห์เบื้องต้นนี้จะทำให้ทราบและตัดสินใจได้ว่า บริเวณใดควรจะเป็นที่พักอาศัย, แหล่งพาณิชยกรรม, อุตสาหกรรม, ทางสัญจร ฯลฯ ซึ่งก็หมายถึงแผนผังการใช้ที่ดิน (LANDUSE PLAN) พร้อมทั้งควรให้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ (RECOMMENDATIONS) ซึ่งจะต้องส่งไปใช้ในการออกแบบในขั้นตอนรายละเอียดของสถาปนิก และมัณฑนากรต่อไป
และขั้นตอนที่สำคัญอีกอย่าง คือ การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ ในด้านทำเลที่ตั้ง และความคุ้มค่า คุ้มทุนให้กับเจ้าของโครงการ ซึ่งมักจะคิดความเป็นไปได้ในด้านการตลาดเพียงด้านเดียว และมองข้ามปัญหา ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นตามมา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีความรู้ในกระบวนการจัดการ และปรับปรุงพื้นที่ให้ดี ให้เหมาะสม ตั้งแต่ต้นก่อน
โดยปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรงในขั้นตอนแรกนี้คือ การวิเคราะห์และออกแบบการจัดการเรื่องดินและน้ำให้เสร็จสิ้นก่อนลงมือทำอย่างอื่น จะทำให้ปัญหาที่ตามมาน้อยลงได้ โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วนำปัจจัยด้านอื่น ๆ เช่น การตลาด การเงินและด้านเทคนิคพิเศษที่จะช่วยให้การทำงานวางแผนได้สะดวกมาประยุกต์ให้ประกอบต่อไป ซึ่งวิธีการจัดการงานดินเบื้องต้นก็คือ ต้องออกแบบปรับแต่ระดับดิน (GRADING) ให้กระทบต่อสภาพภูมิทัศน์ให้น้อยที่สุด และประหยัดงบประมาณงานดิน (EARTH WORK) โดยรักษาสมดุลย์ของดินตัดและติดถม (CUT & FILL) เพื่อให้เหมาะสมแก่การใช้งาน ดูแลรักษาง่าย และป้องกันการกัดเซาะ พังทลาย (EROSION CONTROL) โดยออกแบบทางไหลของน้ำให้ไหลออกจากบริเวณใช้งาน (DRAINAGE DESION) และรักษาทางไหลของน้ำตามธรรมชาติ (EXISTING DRAINAGE WAY) โดยการออกแบบรูปลักษณ์ของพื้นดิน (LANDFORM) ด้วยความเข้าใจ และรู้หลักวิธีการสำรวจของที่มาข้อมูลภูมิประเทศเบื้องต้นอย่างถูกต้อง และตรวจสอบได้ ก่อนการออกแบบ เพื่อความถูกต้องเกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่าและไม่เกิดผลกระทบ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อการถูกรบกวน (SENSITIVE TO IMPACTS) เเละพื้นที่มีปัญหาอื่นๆ
|